นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Stones in the Urinary Tract) นิ่ว มีลักษณะเป็นก้อนแข็งคล้ายก้อนกรวดเกิดจากการตกตะกอนหรือตกผลึกของหินปูนหรือเกลือแร่ในร่างกายซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ แคลเซียม ออกซาเลต, แคลเซียม ฟอสเฟต, กรดยูริค และซีสเตอีน นิ่วเกิดขึ้นที่อวัยวะใดก็จะมีชื่อเรียกตามตามอวัยวะ
นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค นิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือ bladder stone เกิดได้ 2 รูปแบบคือ เป็นนิ่วจากไตหรือท่อไตที่หลุดลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ และเป็นนิ่วที่เกิดในกระเพาะปัสสาวะเองซึ่งในกรณีนี้มักเกิดจากการขับถ่ายปัสสาวะออกไม่หมดด้วยสาเหตุบางประการ เช่น มีภาวะต่อมลูกหมากโตกีดขวางทางเดินปัสสาวะ ท่อปัสสาวะตีบตัน รวมถึงการที่กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจนบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้มีน้ำปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ นานวันเข้าก็จะเกิดการตกตะกอนแล้วค่อยๆ โตขึ้นเป็นก้อนนิ่ว
นอกจากนี้ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ มีการอักเสบติดเชื้อซ้ำๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะ มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารบางชนิดมากเกินไปทำให้ปัสสาวะมีสารตกตะกอนหรือเกลือแร่เข้มข้นมาก เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ยอดผัก เครื่องในสัตว์ รวมถึงการดื่มน้ำน้อยเกินไปด้วย นิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากระบบทางเดินปัสสาวะของผู้ชายมีขนาดยาวและคดเคี้ยวกว่า ตะกอนนิ่วจึงมีโอกาสตกค้างได้มากกว่า
อาการของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
อาการที่มักพบในผู้ป่วยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่
- การปัสสาวะผิดปกติคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีเลือดปน
- ปัสสาวะไม่ออกหรือออกกะปริดกะปรอย คือปัสสาวะไหลๆ หยุดๆ
- มีเม็ดนิ่วลักษณะคล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ
- หากก้อนนิ่วไปครูดหรือเสียดสีกับผนังกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะจนเกิดแผล อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย
การตรวจและวินิจฉัยโรคนิ่วกระเพาะปัสสาวะ
แพทย์สามารถตรวจและวินิจฉัยโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเฉพาะบริเวณระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง ร่วมกับการตรวจปัสสาวะ การเอกซเรย์ภาพช่องท้องในส่วนของไตและกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจอัลตราซาวนด์ หรือส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
การรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
แนวทางในการรักษาโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
- การเอานิ่วออก ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดเล็กมาก แพทย์อาจเริ่มจากการแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ร่างกายขับนิ่วออกมาเองตามธรรมชาติ แต่โดยทั่วไปแล้วการเอานิ่วออกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้ คือ
- การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ (Cystolitholapaxy) โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อขบนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วให้หลุดไหลออกมากับน้ำปัสสาวะ
- การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy : ESWL) เป็นการใช้คลื่นเสียงทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่วจนก้อนนิ่วแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และหลุดไหลออกมากับน้ำปัสสาวะ
- การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่ก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ หรือเป็นนิ่วเขากวางที่มีกิ่งก้านหลายกิ่งจนไม่สามารถเอาออกด้วยวิธีอื่นได้
- รักษาที่สาเหตุของโรค เนื่องจากการเอานิ่วออกเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดโรคอาจทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นนิ่วซ้ำได้อีก ซึ่งการรักษาที่สาเหตุนี้ยกตัวอย่างเช่น
- หากนิ่วเกิดจากการมีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์ต้องตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าการคั่งค้างนั้นเกิดจากอะไรแล้วทำการรักษาไปพร้อมกัน เช่น ผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้วิธีส่องกล้องในกรณีที่ เกิดจากต่อมลูกหมากโต หรือทำการขยายท่อปัสสาวะในกรณีที่มีการตีบตัน
- หากนิ่วเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ เช่น บีบตัวไม่ดี ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้สายสวนในการช่วยปัสสาวะ
การดูแลตัวเองของผู้ป่วย
- ดื่มน้ำให้มากและให้ได้ปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีสารประกอบของนิ่วสูง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัดกรณีที่ต้องสวนปัสสาวะด้วยตนเอง
- เข้ารับการตรวจติดตามโรคตามกำหนดทุกครั้ง โดยแพทย์อาจนัดติดตามผลการรักษาทุก 3 – 6 เดือน
โรคอันตราย นิ่วในไต ท่อไต และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วเกิดจากการที่สารต่างๆ ในปัสสาวะตกตะกอนหรือตกผลึกขึ้นในไตแล้วสะสมรวมกันเป็นก้อนแข็งมีลักษณะคล้ายก้อนกรวด นิ่วที่ยังอยู่ในไตเรียกว่า โรคนิ่วในไต แต่หากก้อนนิ่วหลุดลงมายังท่อไตเรียกว่า โรคนิ่วในท่อไต ส่วนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเป็นนิ่วที่หลุดจากท่อไตลงมาสะสมเพิ่มขนาดในกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจเป็นนิ่วที่เกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะเองก็ได้